dcsimg
ทำไมต้องเลี้ยง ปลานิล-ปลาทับทิม ตัวผู้?
วันที่ 8 มิถุนายน 2559

กระแสความสนใจดูแลสุขภาพของผู้บริโภคในปัจจุบันนับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะปลาที่นับเป็นอาหารเมนูแรกๆที่คนรักสุขภาพนึกถึง เพราะปลาเป็นโปรตีนคุณภาพดี ย่อยง่าย รสชาติอร่อย สามารถประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ส่วนปลาที่ได้รับความนิยมบริโภคมากคงมีชื่อ “ปลานิล-ปลาทับทิม” ติดอยู่ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย ทำให้ปลาทั้ง 2 ชนิดถูกเลี้ยงอย่างแพร่หลายในประเทศไทยจนกลายเป็น “ปลาเศรษฐกิจ” ของพี่น้องเกษตรกรไทย หากแต่ทั้ง “ปลานิล-ปลาทับทิม” ที่เลี้ยงกันอยู่ทั่วไปนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นปลาตัวผู้ทั้งสิ้น นี่จึงเป็นคำถามของหลายคนว่าเหตุไฉนต้องเลี้ยงตัวผู้เท่านั้น วันนี้จึงหาคำตอบมาให้คลายสงสัย


เรื่องนี้ต้องเล่าย้อนไปถึงธรรมชาติของปลานิล และปลาทับทิม ซึ่งเป็นพันธุ์ปลาที่เพาะเลี้ยงง่าย ให้ลูกดก แถมยังเจริญพันธุ์เร็ว เพราะอายุเพียง 3-4 เดือนน้ำหนักแค่ 200 กรัม ก็สามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้แล้ว แถมยังผสมพันธุ์ได้ตลอดปี ซึ่งตั้งแต่ผสมพันธุ์ถึงเลี้ยงดูลูกจนโตสามารถหาอาหารเองได้จะใช้เวลา 2-3 เดือนต่อ ยิ่งถ้าหากสภาพแวดล้อมสมบูรณ์มีอาหารเพียงพอและเหมาะสม ในระยะเวลา 1 ปี ปลาตัวเมียจะผสมพันธุ์ได้ถึง 5-6 ครั้ง


ที่สำคัญตามธรรมชาติแล้วแม่ปลาเท่านั้นที่ต้องดูแลไข่และลูกปลาวัยอ่อน ด้วยวิธีอมไข่เข้าไว้ในปากตลอดเวลา เป็นเวลาถึง 4-5 วัน แล้วไข่จึงจะเริ่มฟักออกเป็นตัว เมื่อลูกปลาที่ฟักออกเป็นตัวใหม่ๆ จะอาศัยอาหารจากถุงอาหารธรรมชาติที่ติดอยู่ตรงท้อง โดยแม่ปลาจะยังคงต้องอมลูกปลาอยู่ต่อไปเพื่อป้องกันอันตรายให้ลูกปลา จนกระทั่งถุงอาหารธรรมชาติของลูกปลายุบหายไปแม้แม่ปลาไม่ต้องอมลูกไว้ในปากเหมือนช่วงแรก แต่แม่ปลาก็ยังคงเฝ้าดูแลลูกต่อไป พฤติกรรมดังกล่าวนี้ ทำให้แม่ปลาไม่สามารถกินอาหารได้เต็มที่ในช่วงดูแลไข่และตัวอ่อน และสารอาหารส่วนใหญ่ก็จำเป็นต้องใช้เพื่อพัฒนารังไข่ตลอดทั้งปี ไม่ได้ถูกใช้เพื่อการเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้สมบูรณ์ ปลาตัวเมียจึงโตช้าและมีขนาดเล็กกว่าปลาตัวผู้ที่ไม่ต้องเลี้ยงลูกทำให้สามารถกินอาหารได้ตลอด การเจริญเติบโตจึงดีกว่านั่นเอง


ข้อจำกัดของปลานิล -ปลาทับทิมตัวเมียดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ก่อให้เกิดปัญหาจากการเลี้ยงปลาแบบรวมตัว เพราะทำให้เกิดลูกปลาแน่นบ่อ ที่สำคัญเมื่อเลี้ยงไป 4-5 เดือน ถึงเวลาจับปลาขาย ขนาดปลาก็ไม่สม่ำเสมอ ปลาทั้ง 2 ตัว มีน้ำหนักต่างกันมากถึงครึ่งต่อครึ่ง โดยตัวผู้ที่เลี้ยงในระยะเวลาเท่ากันจะมีน้ำหนักสูงถึง 1,000 กรัม ขณะที่ตัวเมียจะมีน้ำหนักเพียง 500-600 กรัมเท่านั้น ซึ่งเป็นน้ำหนักที่ตลาดไม่ต้องการ แถมยังมีลูกปลาขนาดเล็กอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถจับปลาพร้อมกันได้ในคราวเดียว เกษตรกรจำเป็นต้องยืดอายุการเลี้ยงปลาที่เหลือออกไป จึงไม่คุ้มกับการลงทุน


ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกษตรกรเลือกเฉพาะปลาตัวผู้มาเลี้ยงในเชิงอุตสาหกรรม เพราะทั้งโตเร็วกว่า เนื้อเยอะ ที่สำคัญยังให้ผลตอบแทนสูงกว่าการเลี้ยงปลาตัวเมียด้วย…ทั้งหมดนี้คงทำให้ช่วยคลายความสงสัยว่า เหตุไฉนต้องเลี้ยงเฉพาะปลานิล-ปลาทับทิมตัวผู้ ได้เป็นอย่างดี