dcsimg
ความปลอดภัยทางอาหาร (Food Safety)
วันที่ 28 มิถุนายน 2559

บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มุ่งมั่นค้นคว้าวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ด้วยเทคโนโลยีการผลิตอันทันสมัย ได้มาตรฐานความสด สะอาด ปลอดสาร ปลอดภัย ถูกสุขอนามัย และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมการผลิตสุกรของบริษัทจึงมีเทคโนโลยีผลิตสุกรปลอดสารที่ก้าวหน้า และมีมาตรฐานที่มุ่งเน้นให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ในความปลอดภัยทางอาหาร (Food Safety) บนพื้นฐานของนโยบายที่ว่า สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตนั้นจะต้องมาจากแหล่งผลิตที่มีมาตรฐาน มีการควบคุมตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง และวางจำหน่ายภายใต้แบรนด์ที่ได้รับความเชื่อถือในคุณภาพ และมีความปลอดภัยอยู่ในระดับสูง สามารถตรวจย้อนกลับได้ (Traceability) และผ่านการรับรองระบบมาตรฐานคุณภาพในระดับสากลเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในสินค้า


มาตรฐานการผลิตเนื้อไก่ปลอดภัย
ในการผลิตผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่ของซีพีเอฟ จะเริ่มต้นด้วยระบบการเลี้ยงและการผลิตที่ให้ความสำคัญกับมาตรฐาน Food Safety ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับเนื้อสัตว์คุณภาพตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ซึ่งซีพีเอฟถือเป็นผู้ประกอบการรายแรกของอุตสาหกรรมที่ริเริ่มใช้ระบบป้องกันโรคตามแนวคิดของคอมพาร์ตเมนต์ (Compartment) สำหรับฟาร์มสัตว์ปีกเชิงอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปครบวงจร มาตั้งแต่ต้น และถือเป็นผู้ผลิตสัตว์ปีกแห่งแรกของโลก ที่ทุกฟาร์มในระบบคอมพาร์ทเมนต์ ปลอดจากโรคไข้หวัดนกตามเงื่อนไขของกรมปศุสัตว์ และตามมาตรฐานสากล


หลักสวัสดิภาพสัตว์ หรือ อิสรภาพ 5 ประการ (Five Freedoms of Animals) ที่สหภาพยุโรปเป็นผู้ประกาศ นั้นประกอบด้วย ได้แก่ 1.ปราศจากความหิว กระหาย และการให้อาหารที่ไม่ถูกต้อง 2.ปราศจากความไม่สะดวกสบายอันเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อม 3.ปราศจากความเจ็บปวด การบาดเจ็บ และโรคภัย 4.ปราศจากความกลัวและความทุกข์ทรมาน 5.อิสระในการแสดงพฤติกรรมตามปกติของสัตว์ ซึ่งหลักการณ์ทั้งหมดนี้จะครอบคลุมในทุกส่วนของการเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่ 1.การเลี้ยงในฟาร์ม ซึ่งต้องให้น้ำและอาหารอย่างพอเพียงตลอดเวลา พื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ไม่หนาแน่น สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ มีสัตวแพทย์และสัตวบาลดูแลสุขภาพสัตว์อย่างสม่ำเสมอ สภาพแวดล้อมภายในโรงเรือน เช่น อุณหภูมิ ความชื้น การระบายอากาศ ต้องเหมาะสมและเพียงพอต่อการดำรงชีพของสัตว์ตลอดเวลา 2.การขนส่ง ภาชนะที่ใช้ในการขนส่งสัตว์ จะต้องดีและเหมาะสม เช่น ไม่ก่อให้เกิดอันตรายขณะขนส่ง, ความหนาแน่นของสัตว์ในขณะขนส่งจะต้องไม่มากเกินกว่าที่กำหนด 3.โรงงานแปรรูป เมื่อรถขนส่งไก่มาถึงโรงงาน จะต้องจอดพักในบริเวณที่เหมาะสมและสบายสำหรับตัวสัตว์ เพื่อลดความเครียดของสัตว์ โดยทุกขั้นตอนการแปรรูปต้องเป็นไปอย่างนุ่มนวลโดยเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญและผ่านการฝึกอบรมด้านสวัสดิภาพสัตว์
สำหรับฟาร์มสัตว์ปีกพันธุ์และสัตว์ปีกเนื้อ ซีพีเอฟได้ออกแบบผังฟาร์ม โดยแยกพื้นที่เลี้ยงสัตว์ปีกออกจากพื้นที่อยู่อาศัยของพนักงานฟาร์มอย่างชัดเจน มีโครงสร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ปีกแบบโรงเรือนปิดระบบปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำ ที่มีระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการเลี้ยงสัตว์ปีกจากภายนอกโดยผู้เลี้ยงไม่ต้องเข้าไปภายในโรงเรือน ระบบจะจัดการสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนให้สัตว์ปีกอยู่อย่างสบาย และรายงานข้อมูลการเลี้ยงตามเวลาจริง พร้อมทั้งสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้ตลอดเวลา เมื่อต้องเข้าปฏิบัติงานภายในโรงเรือน ผู้ปฏิบัติงานต้องทำความสะอาด ฆ่าเชื้อมือและรองเท้า ก่อนสัมผัสสัตว์ปีก


สำหรับบุคลากรและผู้เยี่ยมฟาร์ม ต้องผ่านน้ำยาฆ่าเชื้อ อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนชุดฟาร์มก่อนเข้าพื้นที่เลี้ยง ส่วนอุปกรณ์ และยานพาหนะทุกประเภท ต้องผ่านน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าเขตฟาร์ม และก่อนเข้าพื้นที่เลี้ยง ที่สำคัญคือ มีโปรแกรมการควบคุมและกำจัดสัตว์พาหะ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคเข้าไปปนเปื้อนสัตว์ปีกภายในโรงเรือนได้ ตลอดจน มีโปรแกรมการเฝ้าระวังโรค ทั้งที่ฟาร์ม และพื้นที่กันชนรัศมี 1 กิโลเมตรรอบฟาร์มตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ อีกทั้งมีมาตรการตรวจสอบก่อนการจับไก่เนื้อหรือเป็ดเนื้อส่งมอบโรงงาน เพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์ปีกปราศจากเชื้อก่อโรคและปลอดจากสารตกค้างที่เป็นอันตราย รวมทั้งเพื่อการขออนุมัติจับและเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกสู่โรงงานแปรรูปจากกรมปศุสัตว์ เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว การจับสัตว์ปีกจะต้องทำด้วยความนุ่มนวล เพื่อลดอาการตื่นตกใจและคลายเครียดตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ ทั้งนี้จะมีระบบ GPS ควบคุมระหว่างเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก เพื่อให้มั่นใจว่าการเดินทางของรถขนส่งจากฟาร์มสู่โรงงานแปรรูปเป็นไปตามแผน ทั้งเส้นทางและเวลาที่กกำหนด เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความปลอดภัยอาหารและหลักสวัสดิภาพสัตว์
ในส่วนของโรงงานแปรรูปสัตว์ปีกถือเป็นจุดสุดท้ายก่อนจะได้เป็นผลิตภัณฑ์ไก่ส่งถึงมือผู้บริโภค โดยไก่เนื้อที่ถูกเลี้ยงจากฟาร์มในระบบคอมพาร์ทเม็นต์เท่านั้นที่จะถูกส่งเข้าโรงงานแปรรูปที่มีมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพ ตามหลักการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุมสำหรับโรคไข้หวัดนก ช่วยสร้างหลักประกันคุณภาพความปลอดภัยของอาหาร เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคอย่างยั่งยืน รวมทั้งให้ประเทศคู่ค้าทั่วโลกมั่นใจและยอมรับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ตลอดจนเนื้อสัตว์ปีกสดจากซีพีเอฟ ว่าปลอดโรคไข้หวัดนก นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การปฏิบัติงานได้มาตรฐานและยั่งยืน ระบบคอมพาร์ทเม้นท์ในสัตว์ปีกที่ภาคผู้ประกอบการอย่างซีพีเอฟมุ่งมั่นดำเนินการนี้ ถือเป็นปัจจัยที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้นำเข้าเนื้อไก่จากไทย ทั้งด้านคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยจากโรคระบาดอย่างแท้จริง


โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ทุกแห่งของซีพีเอฟ ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตในระดับสากล อาทิ GMP, HACCP, ISO 9001, IFS, BRC Global Standard-Food, HALAL, ISO 14001-Environment Management System, Social Accountability (SA 8000), รวมถึง Thai Labor Standard (มาตรฐานแรงงานไทย-มรท), OHSAS 18001 (Occupational Health and Safety System) หรือ ACC (Aquaculture Facility Certification) และทุกแห่งจะปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด

มาตรฐานการเลี้ยงสุกร
ซีพีเอฟมุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ เริ่มตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์สุกรลักษณะดี มีความแข็งแรง ทนทานต่อโรค และเหมาะกับการเลี้ยงในสภาพแวดล้อมของไทย ซึ่งซีพีเอฟใช้เวลาปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์สุกรเป็นเวลานานกว่า 30 ปี ทำให้เนื้อสุกรมีคุณภาพดีโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ หรือสารเร่งเนื้อแดง ขณะเดียวกันซีพีเอฟยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านอาหารสัตว์ ที่ต้องผลิตจากวัตถุดิบคุณภาพสูง ด้วยกระบวนการผลิตที่พิถีพิถันและทันสมัยมีคุณค่าทางโภชนาการตรวตามความต้องการที่แตกต่างกันของสุกรในแต่ละช่วงอายุ รวมถึงการจัดการฟาร์มที่เน้นเลี้ยงสุกรปลอดสารภายใต้เทคโนโลยีอันทันสมัย ซีพีเอฟถือเป็นผู้นำในการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มระบบโรงเรือนปิด 100% โดยเลี้ยงในโรงเรือนปิดปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำ หรือโรงเรือนอีแวป (Evaporative Cooling System : EVAP) ที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนให้เหมาะสมกับความต้องการของสุกรได้ทั้งอุณหภูมิ ความชื้น การระบายอากาศ แสงสว่าง ซึ่งระบบนี้สามารถปกป้องฝูงสุกรจากโรคระบาดภายนอกป้องกันการติดเชื้อโรคจากสัตว์พาหะทุกชนิด และมีพื้นที่กว้างเพียงพอให้สุกรเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระสุกรจึงแข็งแรงไม่เครียด สามารถเจริญเติบโตได้ดี โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือฮอร์โมนทุกชนิด ทั้งนี้สุกรคุณภาพในแต่ละช่วงอายุจะถูกเลี้ยงแยกส่วนออกจากกันอย่างชัดเจน และใช้ระบบย้ายสุกรแบบเข้าหมดออกหมด (All in-All out) ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์และสัตวบาลอย่างใกล้ชิด


บริษัทมีระบบจัดการฟาร์มที่ทันสมัยโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์มาช่วยด้านการบริหารจัดการฝูงสุกร ระบบจะทำหน้าที่ควบคุมอุปกรณ์ภายในโรงเรือนให้ทำงานโดยอัตโนมัติ ทำให้ผู้ดูแลไม่จำเป็นต้องเข้าไปภายในโรงเรือนจึงลดโอกาสเสี่ยงจากพาหะนำโรคทุกชนิด โดยมาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเคร่งครัดนี้เป็นสิ่งที่ซีพีเอฟให้ความสำคัญมาตลอด เพราะเรามุ่งหวังผลิตเนื้อสุกรปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค เห็นได้ชัดจากการที่ฟาร์มสุกรของบริษัททุกฟาร์มต้องผ่านการรับรองฟาร์มมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ซึ่งต้องมีเจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์เข้ามาตรวจสอบเป็นประจำ และทุกฟาร์มเป็นระบบฟาร์มปิดควบคุมการผ่านเข้าออกฟาร์มอย่างเข้มงวด บุคลากรและยานพาหนะที่เข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ชั้นนอกของฟาร์ม จะต้องผ่านน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนทุกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีเชื้อโรคที่สามารถแพร่ติดต่อมาสู่สุกรได้ ซึ่งถือเป็นกฎระเบียบทั้งต่อบุคคลภายนอกและพนักงานภายในฟาร์มที่นอกจากต้องผ่านน้ำยาฆ่าเชื้อโรค อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนชุดที่ทางฟาร์มเตรียมไว้ให้ก่อนเข้าฟาร์มแล้ว ยังต้องตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงตามมาตรฐานระบบป้องกันโรคที่ดี ส่งผลให้สุกรภายในฟาร์มของซีพีเอฟเจริญเติบโตอย่างมีสุขภาพที่สมบูรณ์ แข็งแรงและปราศจากโรค


ซีพีเอฟทำการศึกษาและดำเนินการเลี้ยงสุกรตามระบบมาตรฐาน Animal welfare หรือหลักสวัสดิภาพมาแล้วกว่า 10 ปี ที่ฟาร์มในจังหวัดเชียงใหม่และกำแพงเพชร ถือเป็นรายแรกของประเทศไทย และจะขยายผลสู่ฟาร์มสุกรสาธิตตามมาตรฐาน Animal Welfare ของซีพีเอฟที่ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นฟาร์มนำร่องเลี้ยงประมาณ 800 ด้วยเงินลงทุนประมาณ 30 ล้านบาท และยังมีแผนขยายผลไปยังฟาร์มอุบลราชธานีและฟาร์มฉะเชิงเทรา ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 2,400 แม่ ใช้เงินลงทุนฟาร์มละ 100 ล้านบาท
มาตรฐาน Animal Welfare ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ได้เนื้อสัตว์ที่ดีมีคุณภาพ ปลอดภัย ปลอดสาร และปราศจากการทรมานสัตว์แล้ว ยังถือเป็นการช่วยตอกย้ำศักยภาพการส่งออกเนื้อสัตว์ของไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศทั่วโลก โดยความต่างของการเลี้ยงในระบบเดิมกับระบบ Animal welfare ที่เห็นชัดเจนก็คือ การเลี้ยงแบบขังซองกับเลี้ยงในคอกรวม การขังซองนั้น มีข้อดีคือเกษตรกรหรือผู้ประกอบการจะสามารถให้อาหารตามความอ้วนผอมของแม่สุกรแต่ละตัว ถ้าตัวไหนผอมก็ให้เยอะ ตัวไหนอ้วนก็ให้น้อย ขณะที่ในอดีตนั้นการเลี้ยงแบบคอกรวม แม่สุกรจะได้รับอาหารที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละตัว ทำให้การเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร


ซีพีเอฟนำระบบให้อาหารอัตโนมัติ (Automatic feeding system) ในคอกขังรวม (Raising Group) มาแก้ปัญหานี้ เพราะเป็นระบบที่ออกแบบให้แม่สุกรกินอาหารได้เท่าที่ต้องการ โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการตั้งปริมาณ ซึ่งสามารถให้อาหารเป็นรายตัว แม้จะปล่อยให้เดินได้อย่างอิสระ และเกษตรกรจะสามารถติดตามข้อมูลการกินอาหารของสุกรได้จากการอ่านค่าจากชิปที่ฝังไว้ที่หูของสุกร


สำหรับมาตรฐานต่างๆ ที่ฟาร์มสุกรของซีพีเอฟได้รับ ได้แก่ ฟาร์มสุกรมาตรฐานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม หรือ Good Agriculture Practices (GAP) ของกรมปศุสัตว์ และมาตรฐานอาหารปลอดภัย Q Standard ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ที่รับรองว่าเนื้อสุกรที่ผลิตจากฟาร์มสุกรของซีพีเอฟ มีความปลอดภัยจากโรคสัตว์ที่ติดต่อถึงคน ไม่มีสารปนเปื้อน ไม่มีสิ่งแปลกปลอม ไม่มียาสัตว์และยาฆ่าแมลงตกค้าง ที่สำคัญคือไม่มีสารเบต้า-อโกนิสต์ หรือสารเร่งการเจริญเติบโต นอกจากนี้ยังผ่านการรับรองระบบมาตรฐานสากล ISO 9001:2000 รวมถึงมาตฐาน 5ส และ 7ส

มาตรฐานการผลิตไข่ไก่
ซีพีเอฟ ผู้ผลิตและจำหน่ายไข่สดตรา CP ที่ได้จากแม่ไก่ไข่พันธุ์ดีที่เลี้ยงในฟาร์มระบบโรงเรือนปิด 100% ภายใต้มาตรฐานฟาร์มของกระทรวงเกษตรฯ เช่นเดียวกับการเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่นๆของบริษัท จากนั้นไข่ไก่คุณภาพดี จะถูกนำเข้าสู่โรงคัดไข่ ด้วยเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีสูง ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย เพื่อความรวดเร็วในการผลิตและจัดจำหน่ายโดยผลิตภัณฑ์ไข่ไก่ของซีพีเอฟได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในด้านคุณภาพและความปลอดภัย


ซีพีเอฟผลิตไข่ไก่ที่เน้นคุณภาพและความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งจะเห็นได้จากบรรจุภัณฑ์ ความสะอาดและแหล่งที่มาของผลผลิตว่ามาจากฟาร์มมาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ในทุกขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยได้รับรองมาตรฐาน GMP HACCP ISO และไม่มีสารปฏิชีวนะปนเปื้อน


ไข่สดซีพี เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะทำการคัดขนาดน้ำหนัก การล้างทำความสะอาด และการบรรจุไข่ลงในบรรจุภัณฑ์พร้อมสลากสินค้าที่มีข้อมูลอย่างครบถ้วน มีวันผลิตและวันหมดอายุอย่างชัดเจน ตลอดจนบนเปลือกไข่ ยังระบุแหล่งที่มาของไข่ ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยโรงคัดไข่ของซีพีเอฟได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตในระดับสากลต่างๆ มากมาย รวมถึงเครื่องหมายอาหารปลอดภัย (Food Safety) จากกระทรวงสาธารณสุข